วัดพระแก้ว ความงดงามแห่งยุครัตนโกสินทร์

วัดพระแก้ว เที่ยววัดพระแก้ว วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เช่ารถเที่ยววัดพระแก้ว

วัดพระแก้ว ความงดงามแห่งยุครัตนโกสินทร์

วัดพระแก้ว หรือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นวัดที่มีชื่อเสียงที่สุดในเกาะรัตนโกสินทร์ สถานที่ที่รวมศูนย์รวมใจของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครและจากทั่วทุกที่ ด้วยความที่มีสถาปัตยกรรมและศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม ประกอบกับพระแก้วมรกต หรือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระประธานที่มีชื่อเสียงที่สุดของวัดพระแก้ว เป็นศูนย์กลางที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มากราบไหว้นมัสการอยู่เป็นประจำ รวมถึงใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 มาใหม่ๆ ที่นี่ก็ได้ปิดให้บริการลงชั่วคราว จนกระทั่งกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง เมื่อ 7 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากจะพาเพื่อนๆทุกคนไปทำความรู้จักกับวัดพระแก้วให้มากขึ้นกัน

วัดพระแก้ว เที่ยววัดพระแก้ว วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เช่ารถเที่ยววัดพระแก้ว

ประวัติของวัดพระแก้ว

สำหรับ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้เป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกต รวมถึงเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล โดยเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส

วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด การบูรณะครั้งใหญ่ทั้งพระอาราม มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2425 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามในโอกาสที่มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ในรัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามอีกครั้งใน พ.ศ. 2525 เมื่อมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธานในการบูรณะ

วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่สำคัญและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ

วัดพระแก้ว เที่ยววัดพระแก้ว วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เช่ารถเที่ยววัดพระแก้ว

กลุ่มอาคารต่างๆในวัดพระแก้ว

ภายในวัดพระแก้วมีอาคารสำคัญและอาคารประกอบเป็นจำนวนมาก จึงขอแบ่งกลุ่มอาคารออกเป็น 3 กลุ่ม ตามตำแหน่งและความสำคัญ ดังนี้

กลุ่มพระอุโบสถ:
เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุด มี "พระอุโบสถ" เป็นอาคารประธาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ล้อมรอบด้วยศาลาราย พระโพธิ์ธาตุพิมาน หอราชพงศานุสรณ์ หอราชกรมานุสรณ์ หอระฆัง หอพระคันธารราษฎร์ สำหรับพระอุโบสถตั้งอยู่ส่วนกลางของวัด มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีซุ้มประดิษฐานเสมารวม 8 ซุ้ม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2326 ก่อนจะสำเร็จเรียบร้อยลงใน พ.ศ. 2328 ส่วนหลักฐานการก่อสร้างและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถไม่ชัดเจนนัก นอกจากบ่งไว้ว่าฝาผนังรอบนอกเป็นลายรดน้ำปิดทองรูปกระหนกเครือแย่งทรงข้าวบิณฑ์ดอกในบนพื้นสีชาด ฝาผนังด้านในเหนือประตูด้านสกัดเป็นภาพเรื่องมารวิชัยและเรื่องไตรภูมิ ฝาผนังด้านยาวเขียนภาพเทพชุมนุมตามแบบที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา ฝาผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพเรื่องปฐมสมโพธิ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ซึ่งปรากฏว่ามีการแก้ไขในรัชกาลที่ 3 และ 4 ดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน ภายในพระอุโบสถได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามตั้งแต่เพดานถึงพื้น กลางห้องประดิษฐาน "พระแก้วมรกต" ในบุษบกทองคำพร้อมด้วยพระพุทธรูปสำคัญมากมาย

กลุ่มฐานไพที:
กลุ่มอาคารบริเวณฐานไพที มีอาคารหลักสามหลัง คือ ปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ และวัตถุประดับตกแต่งอื่น ๆ เช่น รูปปั้นสัตว์หิมพานต์ บุษบกพระราชลัญจกร นครวัดจำลอง พระสุวรรณเจดีย์ และพนมหมาก

กลุ่มอาคารและสิ่งประดับอื่นๆ:
หอพระนาก พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด หอมณเฑียรธรรม พระอัษฎามหาเจดีย์ ยักษ์ทวารบาล และจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียง ซึ่งมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังจำนวน 178 ห้อง เรียงต่อกันยาวตลอดฝาผนังทั้ง 4 ทิศ มีเนื้อหาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์

พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม:
พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในเขตพระราชฐานชั้นนอกของพระบรมมหาราชวัง เดิมเป็นโรงกษาปณ์ใช้ผลิตเงินตราเพื่อใช้ในประเทศ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาคารรูปแบบตะวันตก ในปี พ.ศ. 2525 ในวาระการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่กองบูรณะจึงขอพระราชทานอาคารโรงกษาปณ์มาเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีสิ่งน่าสนใจหลายอย่าง เช่น ปืนใหญ่ที่ตั้งแสดงไว้ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ ตุ๊กตาจีนที่ตั้งไว้หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์

ข้อแนะนำสำหรับการไปวัดพระแก้ว

– การเข้าชมวัดพระแก้ว ควรไปตอนเช้า แดดไม่ร้อน คนไม่เยอะ เดินได้สะดวกกว่า ช่วงเที่ยงๆ บ่ายๆ มักจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ

– การเข้าชมวัดพระแก้ว นิยมเข้าทางประตูวิเศษไชยศรี ประตูใหญ่ที่อยู่ทางด้านถนนหน้าพระลาน โดยเดินเข้าทางนึง และออกอีกทางหนึ่ง

– ควรแต่งกายสุภาพ ไม่ใส่เสื้อแขนกุด รัดรูป ซีทรู เอวลอย ส่วนกางเกงไม่ใส่ขาสั้น ขาสามส่วน เลคกิ้ง กางเกงเอวต่ำ ใส่ยีนส์ได้ แต่ห้ามใส่กางเกงยีนส์ปะหรือที่ตัดให้ขาดเป็นริ้วๆ หากใส่กระโปรงก็ควรเป็นกระโปรงที่มีความยาวคลุมเข่า

– หากแต่งตัวไม่เรียบร้อย สามารถยืมผ้าถุงได้ที่เคาเตอร์ตรงประตูวิเศษไชยศรี (เดินเข้าประตูไปแล้ว เคาเตอร์อยู่ขวามือ) โดยวางมัดจำ หรือใช้บัตรประชาชน เมื่อออกมาแล้วค่อยนำมาแลกคืนได้ ณ จุดเดิม (ทางที่ดีควรแต่งตัวให้ถูกต้องมาเลย จะได้ไม่เสียเวลา)

เวลาเปิด-ปิด และค่าบริการต่างๆของวัดพระแก้ว

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ยกเว้นแต่วันที่มีพระราชพิธีต่าง ๆ) ตั้งแต่เวลา 08.30-15.30 น. โดยมีกิจกรรมและเทศกาลอื่นๆด้วย เช่น วันอาทิตย์ เทศนาธรรม 13.00 น., วันพระ เทศนาธรรม 09.00 น. และ 13.00 น., มัคคุเทศน์ 10.00 น. และ 14.00 น. โดยคนไทย ไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถแสดงบัตรประชาชนได้ที่ทางเข้า แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าบัตรเข้าชม 500 บาท สามารถเข้าชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พิพิธภัณฑ์ผ้า ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง กรณีที่ต้องการ Audio Guide สำหรับฟังบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน รัสเซีย ญี่ปุ่น จีนกลาง และไทย สามารถเช่าในราคา 200 บาท ที่บริเวณจุดประชาสัมพันธ์ ส่วนการซื้อบัตร สามารถซื้อได้ที่ห้องจำหน่ายภายในพระบรมมหาราชวัง หรือสามารถซื้อบัตรผ่านทางออนไลน์ ล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนวันเข้าชม

การเดินทางไปวัดพระแก้ว

1. BTS + เรือด่วนเจ้าพระยา
วิธีแรกนี้ ถือว่าเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด ง่ายที่สุด และเร็วที่สุด เพราะรถไฟฟ้า BTS มีตลอดแทบทั้งวัน ไม่เกิดปัญหารถติดกวนใจด้วย ส่วนการต่อเรือก็ทำได้ไม่ยาก เพราะเป็นเรือด่วนเจ้าพระยา ที่มีวิ่งอยู่ตลอด เมื่อขึ้นเรือที่ท่าช้าง ใช้เวลาเดินอีกประมาณ 5 นาที ก็ถึงประตูทางเข้าวัดพระแก้ว
ขั้นตอนการเดินทาง
– ลง BTS สถานีสะพานตากสิน ทางออก 2
– เดินไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้สะพานมีท่าเรือสาทร ลงเรือด่วนเจ้าพระยา ธงสีส้ม
– ขึ้นเรือที่ท่าช้าง (N9) เดินออกจากท่าเรือ วัดพระแก้วอยู่ทางขวามือ
ข้อแนะนำ
– วันธรรมดา จะมีเรือวิ่งบ่อยกว่าวันเสาร์ – อาทิตย์
จันทร์ – ศุกร์ เรือธงส้ม (06.00 – 19.00 น.) วิ่งทุกๆ 10-20 นาที
เสาร์ – อาทิตย์ เรือธงส้ม (06.00 – 19.00 น.) วิ่งทุกๆ 20-25 นาที
(ค่าโดยสารราคาเดียว 15 บาทตลอดสาย)
– การลงเรือ อาจมีข้อจำกัดสำหรับคนที่ไม่สะดวกในกรณี มีเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุมาด้วย เพราะเรือด่วนเจ้าพระยา เป็นการเดินทางค่อนข้างรีบเร่ง ใช้เวลาจอดเพียงระยะเวลาสั้นๆ
– ก่อนที่จะถึงท่าช้าง จะเป็นท่าเตียน (N8) ควรเตรียมตัวขึ้นเรือล่วงหน้า หากลงเรือผิดสาย หรือขึ้นเรือท่าช้างไม่ทัน ก็สามารถขึ้นที่ท่าต่อไป เป็นท่าวังหลัง(พรานนก)(ท่าเดียวกับศิริราช)(N10) แล้วค่อยต่อเรือข้ามฟากตรงนั้นมายังท่าช้าง (ค่าเรือข้ามฟากราคา 3 บาท)

2. BTS + รถเมล์
วิธีนี้เป็นวิธีที่เร็วพอสมควร รถไฟ BTS ช่วยลดระยะทางที่รถติดไปได้ แต่ก็ยังต้องต่อรถเมล์ ซึ่งเวลาอาจจะไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการจราจรในขณะนั้นด้วย วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับการลงเรือในกรุงเทพ และยังพอมีเวลา ไม่เร่งรีบมากนัก BTS จุดที่สามารถต่อรถเมล์มีได้หลายจุด ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้เดินทาง
2.1 BTS สนามกีฬาแห่งชาติ + รถเมล์
– ลง BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออก 2
– เดินมารอรถเมล์ที่หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ รถเมล์ที่ผ่านคือ สาย 15 , 47 , 508
2.2 BTS สยาม + รถเมล์
– ลง BTS สถานีสยาม
– เดินลงฝั่งตรงข้ามสยามพารากอน ต่อรถเมล์ สาย 15 , 25 , 508

3. MRT หัวลำโพง + รถเมล์
การใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT อาจจะสะดวกกับนักท่องเที่ยวหลายๆ คน แม้ว่าการต่อรถไปวัดพระแก้ว อาจจะไม่สะดวกรวดเร็วเท่ากับจุดที่แนะนำไว้ ตามข้อ 1 และ 2 แต่ถ้าหากไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายหลายต่อ รถไฟฟ้าใต้ดิน ก็ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน
– MRT สถานีหัวลำโพง ทางออก 4 เดินไปทางโรงแรมบางกอกเซ็นเตอร์ต่อรถเมล์สาย 25 , 53

4. เรือข้ามฟาก ท่าวังหลัง(พรานนก) หรือท่าศิริราช
วิธีนี้น่าจะเหมาะสำหรับคนที่อยู่ฝั่งธนฯ คนที่สะดวกมาทางโรงพยาบาลศิริราช หรือคนที่นั่งเรือมาลงที่ท่าวังหลัง ก็สามารถนั่งเรือข้ามฟากมาขึ้นที่ท่าช้าง เพื่อไปยังวัดพระแก้วได้เลย ค่าเรือข้ามฟากเพียงแค่ 3 บาท ระวังนิดนึงตรงที่ว่า ท่านี้มีไปขึ้น ที่ท่าช้าง กับท่าวัดมหาธาตุ เวลาลงเรือควรสังเกตว่าเป็นเรือที่ไปท่าไหน
– รถเมล์ผ่านแยกศิริราช สาย 19 , 57 , 81 , 91 , 149 , 157 , 169 , 177

5. รถเมล์
วิธีนี้คงเป็นวิธีสุดท้ายแนะนำ การนั่งรถเมล์เพียงต่อเดียวก็สามารถทำได้ หากรถไม่ติดถือว่าสะดวกอยู่เหมือนกัน เพราะไม่ต้องขึ้น-ลงรถ หรือเรือบ่อยๆ แต่หากเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน การจราจรติดขัด การนั่งรถเมล์อาจจะทำให้เสียเวลามาก รถเมล์ที่ผ่านวัดพระแก้วที่ใกล้ที่สุดคือ 1 , 3 , 9 , 15 , 25 , 30 , 32 , 33 , 43 , 44 , 47 , 53 , 59 , 64 , 80 , 82 , 91 , 203 , 503 , 508 , 512
ข้อแนะนำ
- รถเมล์ป้ายที่ใกล้ทางเข้าวัดพระแก้วมากที่สุด จะเป็นป้ายรถเมล์ที่ผ่านถนนหน้าพระลาน และท่าช้าง
– รถเมล์บางสายจะหยุดแค่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็สามารถเดินมาถึงวัดได้ไม่ไกลนัก
– หากต้องการแวะวัดโพธิ์ ให้ขึ้นรถเมล์ที่ผ่านท่าเตียน ซึ่งอยู่ไม่ไกลกับวัดพระแก้ว
– สามารถโทรถามรายละเอียดเส้นทางรถเมล์เพิ่มเติมได้ที่ 1348

เพื่อนๆสามารถนั่งรถเช่ากรุงเทพ เพื่อไปเที่ยววัดพระแก้วกับ ECOCAR ได้นะ

Visitors: 590,969